ประวัติความเป็นมา

 

ประวัติความเป็นมาตำบลขุนทอง

 

๑.๑ ประวัติความเป็นมาของพื้นที่

 ตำบลขุนทองจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ โดยแยกออกจากตำบลด่านช้างอำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยชื่อตำบลขุนทองได้มาจากชื่อ นายขุน นามสกุลทองดวง ซึ่งเป็นกำนันตำบลด่านช้าง (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐) ซึ่งเป็นกำนันมือปราบฝีมือดี ร่วมกับทางราชการปราบปรามโจรผู้ร้ายที่มีชุกชุมจนราบคาบ และต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเดิมคือบ้านหญ้าคา (ในตำบลขุนทองในปัจจุบัน) มาตั้งหมู่บ้านใหม่บริเวณทางสี่แยกและชาวบ้านได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่นี้เพื่อเป็นเกียรติแก่นายขุน ทองดวง ว่าบ้านขุนทอง ต่อมาได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลขุนทองเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๙ ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๑๑ ตอนที่ ๕๒ ก. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๙ โดยมี นายธงชัย หงษ์พรม ที่ดำรงตำแหน่งกำนันในขณะนั้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคนแรกและแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ หมู่บ้าน ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาตำบลโดยการสร้างโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพให้คนภายในตำบล เพื่อให้มีรายได้เพิ่มในกิจกรรมต่างๆที่หน่วยงานท้องถิ่นจัดขึ้น เน้นการกระตุ้นทางด้านจิตใจคือการรักใคร่นับถือกัน มีความสามัคคีและไว้วางใจ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือร่วมใจอย่างดีในการพัฒนาตนเองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการเข้ารับการอบรมอาชีพตามความถนัดและสนใจ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาวัฒนธรรม ของชุมชนไปพร้อมกันด้วย ตำบลขุนทองมีแนวคิดที่จะรักษาวิถีชีวิต  ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ด้วยการสนับสนุนให้ชาวตำบลขุนทองใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีสงกรานต์ ประเพณีทอดเทียนโฮมประเพณี ทูลขวัญข้าวสู่ขวัญควาย เป็นต้น ประเพณีเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวทางค่านิยมและเอกลักษณ์ของต้นเกิดจิตสำนึกของความเป็นไทยและภาคภูมิใจในค่านิยมไทย ซึ่งชาวตำบลขุนทองก็ได้เกิดความรัก ความร่วมมือ และหวงแหนวิถีชีวิตตามวิถีไทยให้คงไว้ พร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับชุมชนสังคม

    ๑.๒ สภาพลักษณะภูมิศาสตร์ของพื้นที่

         ตำบลขุนทองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๕๑ ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ ๓๕,๔๘๓ ไร่สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มี

ลักษณะราบเรียบ สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสมในการทำนา ปลูกพืชไร่ และไม้ผล มีลำห้วยน้อยและลำห้วยยางไหลผ่านทางตอนล่างของตำบล มีอ่างเก็บน้ำฝายใหม่และหนองเกล็ดลิ้น เป็นแหล่งน้ำที่เก็บกักไว้ทำการเกษตรและอุปโภค ด้านทิศเหนือเป็นพื้นที่ราบมีคลองรวงเป็นเส้น แบ่งเขตตำบลขุนทองกับอำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ด้านทิศใต้เป็นพื้นที่ลุ่มมีอ่างเก็บน้ำโสกงูเหลือมและฝายใหม่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรระดับความสูงประมาณ ๑๔๐ – ๒๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล แม้แหล่งน้ำจะกระจายในพื้นที่ แต่ยังมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตร

 

         ๑.๒.๑ ตำบลขุนทองอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

                แผนภาพแผนที่เชิงภูมิศาสตร์แสดงอาณาเขตติดต่อ

 

ทิศเหนือ มีพื้นที่ติดต่อกับ ตำบลท่าวัด  อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น โดยมีคลองรวงเป็นแนวกั้นเขตแดน ซึ่งชาวตำบลขุนทองกับตำบลท่าวัด ได้ใช้คลองรวงในการทำการเกษตร ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำไร่อ้อยและมันสำปะหลัง

ทิศใต้ มีพื้นที่ติดต่อกับ ตำบลห้วยยาง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้พื้นที่การเกษตรของชาวตำบลขุนทองเป็นแนวกั้น โดยพื้นที่ของตำบลห้วยยางจะมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงกว่าตำบลขุนทอง

ทิศตะวันออก มีพื้นที่ติดต่อกับ ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาและ ตำบลโนนจาน อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้พื้นที่การเกษตรของชาวตำบลขุนทองเป็นแนวกั้น

ทิศตะวันตก มีพื้นที่ติดต่อกับ ตำบลโนนสำราญ อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา และตำบลแก้งสนามนาง อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้คลองน้ำกินที่เชื่อมอ่างเก็บน้ำฝายใหม่และหนองเกล็ดลิ้นซึ่งเป็นคลองที่มีการผันน้ำจากแม่น้ำชีมาแจกจ่ายเกษตรกรในตำบล และมีพื้นที่การเกษตรของชาวตำบลขุนทองเป็นแนวแบ่งเขต

        ๑.๒.๒ ข้อมูลประชากรตำบลขุนทอง

จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของอำเภอบัวใหญ่ ตำบลขุนทองมีจำนวนประชากรทั้งหมดรวม ๗,๘๙๒ คน แยกเป็นชาย ๓,๙๘๒ คน เป็นหญิง ๓,๙๑๐ คน และมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ๑,๙๘๓ ครัวเรือน ประชากรเฉลี่ย๔.๐๒ คนต่อครัวเรือน หรือ ๕๑ ต่อตารางกิโลเมตร ตำบลขุนทองมีการแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ หมู่บ้าน จากข้อมูลผู้อาศัยในพื้นที่ ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลระดับตำบล (TCNAP) พบว่าตำบลขุนทองมีจำนวนประชากรทั้งหมด ๖,๗๘๔ คน แยกเป็นชาย ๓,๔๐๑ คน เป็นหญิง ๓,๓๘๓ คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด ๑,๔๙๐ ครัวเรือน โดยมีผู้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่และมีเฉพาะบ้านเลขที่แต่ไม่มีคนอาศัยจำนวน ๔๙๕ ครัวเรือน และประชากร จำนวน ๑,๑๑๑ คน ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลขุนทองทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตำบลขุนทองมีพื้นฐานทางการเกษตรกรรม แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินก็สามารถแก้ไขปัญหาและมีการถ่ายทอดความรู้สู่พื้นที่ใกล้เคียงจนกลายเป็นที่ตั้งของ  “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอบัวใหญ่” ดังคำขวัญของตำบลขุนทองที่ว่า  “เมืองเกษตรพอเพียง ถักร้อยเรียงตะกร้า เลิศล้ำค่าผ้าไหม ประเพณีไทยบุญเดือนสาม เจดีย์งามหลวงพ่อทอน” ซึ่งมีเป้าหมายของการพัฒนาตำบลขุนทองที่มุ่งเน้นการกินดีอยู่ดีของประชาชนตำบลขุนทอง

 

    ๑.๓ ฐานคิดในการพัฒนาตำบล

 

 

     ตำบลขุนทองมีความพร้อมในการจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีวิธีการและแนวคิดในการทำงานโดยได้กำหนดเป้าหมาย การพัฒนาคุณภาพ ด้านการให้บริการสาธารณะที่ดีอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ คน ครอบครัว และชุมชน โดยใช้กลไกการบูรณาการการทำงานของหลายภาคส่วน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง องค์กรประชาชน ผู้นำท้องที่ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบด้าน เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการจัดระเบียบชุมชนและสังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการบริหารจัดการ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะวัฒนาธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยพัฒนานำเอา แนวทางการพึ่งพาตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ฐานคิดสำคัญ ดังนี้

    ฐานคิดที่ ๑ บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง

     ตำบลขุนทองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือ ร่วมแสดงความคิดเห็น และแสดงออกถึงความต้องการของชุมชนร่วมกันในการจัดบริการสาธารณะ และกิจกรรมต่างๆของท้องถิ่น และร่วมรับผิดชอบในการดำเนินการ ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่สะท้อนถึงผลประโยชน์ของชุมชนผ่านความเห็นชอบจากการพูดคุย ปรึกษาหารือกันในชุมชน ผ่านกิจกรรม “ขุนทอง รวมใจ ใฝ่พัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยการนำปัญหาของชุมชนเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาชุมชนการให้บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง อาทิ กลุ่มบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่เป็นการทำงานร่วมกันของประชาชนและท้องถิ่นผ่านการประชุมพูดคุย รับฟังปัญหา ร่วมกันแก้ไขปัญหาจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างทั่วถึง กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นที่ให้บริการและตอบสนองความต้องการประชาชนในด้านสุขภาพ ได้แก่ โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยเบาหวานความดันโลหิตสูง โครงการเมื่อป่วยกายทำอย่างไรใจไม่ป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โครงการช่วยเหลือและสงเคราะห์ครัวเรือนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ด้วยการซ่อมแซม สร้างบ้าน ให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยการร่วมแรง ร่วมใจของประชาชน ระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ท้องที่ในการร่วมกันพัฒนาและการจัดการบริการสาธารณะ

    ฐานคิดที่ 2 มุ่งเน้นคุณภาพชีวิต

     โดยมีเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การพัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพทุกระดับ การพัฒนาและส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม กิจกรรมทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น การให้บริการส่งเสริมสงเคราะห์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ส่งเสริมสุขอนามัย ให้แก่ประชาชน สู่การมีสุขภาพที่ดี การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อและไม่ติดต่อ พัฒนาความรู้ด้านวิชาการส่งเสริมและพัฒนาด้านคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร เกษตรอินทรีย์ และลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังส่งเสริมกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชน ก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ภายในตำบล เช่น กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรนางาม คืนชีวิตให้แผ่นดิน กลุ่มถักตะกร้าบ้านหญ้าคา กลุ่มทอเสื่อกกบ้านหญ้าคา ฯลฯ เป็นต้น สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พัฒนาศักยภาพของคน ครอบครัว และชุมชน ให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้

    ฐานคิดที่ 3 พึ่งพาตนเองตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง

     การพัฒนาด้านการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเอง ตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแบบอย่าง อันประกอบด้วย (๑) ความพอประมาณ คือ ความพอดีไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งได้ส่งเสริมให้ประชาชนทำการผลิต และบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ และไม่ฟุ่มเฟือย ทำให้ไม่เกิดภาวะหนี้สิน เช่น กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง มีการส่งเสริมความรู้การผลิตจากสำนักงานพัฒนาที่ดิน ทำให้ประชาชนสามารถลดต้นทุนการผลิตในการเกษตร ลดภาระหนี้สินได้ (๒) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากสาเหตุ ปัญหา เหตุ ปัจจัย ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาพื้นที่ โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนและปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาตำบล (๓) ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในหลักการนี้ตำบลขุนทองได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพของชุมชน ด้วยการสร้างกลไกระดับหมู่บ้าน เช่น การทำงานหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหญ้าคา หมู่ที่ ๖ จากการทำงานร่วมกัน โดยใช้บุคคล กลุ่มคน ทรัพยากร รวมทั้งการออกแบบและรักษาบรรยากาศแวดล้อมในชุมชน  สร้างรูปธรรมในการจัดการชุมชนโดยชุมชน เพื่อสร้างสังคมของชุมชนท้องถิ่นให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นชุมชนน่าอยู่ และปลอดภัย ซึ่งนำไปสู่ตำบลสุขภาวะ และสร้างสุขให้ประชาชนในตำบล

 

    ๑.๔ เส้นทางการพัฒนาตำบล

ตำบลขุนทองได้มีการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นซึ่งสรุปเส้นทางการพัฒนา ได้เป็น ๓ ช่วง ดังนี้

        ระยะที่ ๑ การพัฒนาเพื่อสนองต่อนโยบายรัฐและจัดการทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน (พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๑) 

         เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙ สภาตำบลขุนทอง ได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง การบริหารในช่วงแรกเป็นการบริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บริหารตามโครงสร้าง การจัดการส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จัดให้มีและบำรุงรักษาเส้นทางการคมนาคม ทางระบายน้ำ ให้เพียงพอทั่วถึงและได้มาตรฐาน บำรุงรักษาแหล่งน้ำ ขุดลอก ขุดสระ ให้เพียงพอต่อภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร สถานการณ์ ในการช่วงนี้เป็นการแก้ไขปัญหาตามความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ปัญหาการสัญจรไม่สะดวกไม่มีถนน การเดินทางไปติดต่อราชการหรือขนส่งสินค้าการเกษตรค่อนข้างลำบาก ได้มีการสร้างถนนสายหลักเพื่อเชื่อมระหว่างหมู่บ้านประกอบด้วย ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนลูกรังบดอัดแน่น โดยใช้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง

     ปัญหาความแห้งแล้ง ในฤดูฝน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติตื้นเขินกักเก็บน้ำได้น้อย อีกทั้งไม่มีระบบชลประทาน ทำให้น้ำที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มการบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตร บ้านโสกงูเหลื่อม หมู่ที่ ๔ ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดสรรแบ่งปันน้ำโดยสูบน้ำจากแม่ชีตอนบนเข้าสู่คลองส่งน้ำให้ไหลไปตามหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชน

     ปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนทำการเกษตร (ทำนา) ไม่มีระบบชลประทานทำให้เกิดน้ำท่วมบางแห่ง เป็นที่ราบสูงก็ขาดน้ำในการเกษตร ดินบางแห่งเป็นดินเค็ม อาศัยน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำให้ราคาผลผลิตจากไร่นาตกต่ำ หลังฤดูเก็บเกี่ยวประชาชนไม่มีงานทำเกิดปัญหารายได้น้อยต้องกู้นายทุน เกิดปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาด้านยาเสพติด วัยรุ่นมั่วสุมดื่มสุราและของมึนเมา สูบบุหรี่มากเพิ่มขึ้นห่างเหินสังคม ประพฤติตัวไม่เหมาะสมติดยาเสพติดขาดความอบอุ่นจากครอบครัว เนื่องจาก พ่อ แม่ ไปทำงานต่างประเทศ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทองได้หาทางแก้ไขโดยการส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน เช่น สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาส่งเสริมอาชีพ การแปรรูปอาหารต่างๆ การทำขนม การจัดดอกไม้ วิทยาลัยการอาชีพบัวใหญ่ได้เข้ามาสอนการซ่อมแซมเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ทำให้ลดรายจ่ายมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว และมีอาสาสมัครแรงงานตำบลที่ให้คำปรึกษาแนะนำอาชีพให้กับผู้ว่างงานในตำบล รวมถึงผู้นำได้เห็นความสำคัญและหาทางแก้ไข และเกิดการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มถักตะกร้า กลุ่มผ้ากันเปื้อน กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มทอเสื่อ กลุ่มกระเป๋าซองกาแฟ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่อทำกิจกรรมในการแก้ปัญหาเพื่อประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

     ปัญหาด้านสาธารณสุข การบริการด้านสาธารณสุขไม่ทั่วถึงเพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อประชาชน ในช่วงที่ผ่านมาพบประชาชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะกับเด็ก และประชาชนยังขาดความรู้ด้านสุขอนามัยที่ถูกต้องการบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดการออกกำลังกาย จากปัญหาดังกล่าว องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทองร่วมกับ รพ.สต.ในพื้นที่ ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานและมีการจัดตั้งชมรม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านขึ้นเพื่อสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยปฏิบัติงานด้านสุขภาพ เชิญชวนคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขโรคไข้เลือดออก การกำจัดลูกน้ำยุงลาย นอกจากนั้น กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลได้สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนได้ดูแลสุขภาพการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายของผู้สูงอายุและเกิดการรวมกลุ่มแอโรบิค เพื่อให้คนในชุมชนได้หันมารักษาสุขภาพโดยการเต้นแอโรบิคทุกเพศทุกวัย

        ระยะที่ ๒ การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (พ.ศ. ๒๕๔๒ – ๒๕๔๙)

          เป็นการปรับการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตำบลขุนทอง ใช้หลักการเข้าใจ เข้าถึง เพื่อการพัฒนาทำให้เกิดการรวมตัว ร่วมแรง ร่วมกับแกนนำผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หน่วยงานภาครัฐ เช่น พัฒนาชุมชนอำเภอ บัวใหญ่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆสนับสนุนให้ความรู้เพื่อให้แต่ละกลุ่มเกิดการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกิดการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ กลุ่มผ้ากันเปื้อน กลุ่มสานตะกร้า ประกอบกับการมีนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ประชาชนมีสวัสดิการช่วยเหลือการจัดตั้งกองทุนต่างๆช่วยเหลือประชาชน เป็นการใช้เวลาที่นอกเหนือจากการทำนาให้เกิดประโยชน์ ช่วยให้คนในชุมชนไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น สร้างความอบอุ่นในครอบครัวเพื่อลดปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชน และมีการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ ( สปสช. ) มีการจัดตั้งกลุ่มแอโรบิคโดยการรวมตัวของคนในชุมชนทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพได้ทั่งถึง มีการร่วมกลุ่มทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ อาทิเช่น การทอผ้าไหม การทำใบตองบายศรีสู่ขวัญ และเพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณีท้องถิ่นไว้โดย การจัดประเพณี บุญเดือนสามทูลขวัญข้าวสู่ขวัญควายทอดผ้าป่าปุ๋ยคอก และจัดตั้งกลุ่มทอเสื่อกกเพื่อนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในตำบลมาสร้างคุณค่า สร้างราคาเพิ่มขึ้น

 

        ระยะที่ ๓ การพัฒนาเพื่อสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน (พ.ศ. ๒๕๕๐- ปัจจุบัน)

          เน้นการสร้างสังคมน่าอยู่ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม โดยการขับเคลื่อนงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในตำบลทุกกลุ่ม ทุกองค์กร รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน มุ่งเน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งโดยให้ชุมชนมีบทบาทในการนำเสนอปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนต่อผู้นำ/สมาชิกสภา อบต./คณะผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมและโครงการ ซึ่งสามารถนำเสนอปัญหาและความต้องการของชุมชนผ่านเวทีประชาคมระดับหมู่บ้าน ตำบลเพื่อรับฟังปัญหา และร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ในด้านการพัฒนาด้านการศึกษามีโรงเรียนโคกสว่าง (โรงเรียนไหว้สวย) ที่มุ่งเน้นการสร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กับเด็กและเยาวชนของตำบลขุนทอง ด้านการรวมกลุ่มประกอบอาชีพที่ช่วยส่งเสริมรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน อาทิเช่น กลุ่มผลิตผ้ากันเปื้อน  กลุ่มถักตะกร้าบ้านหญ้าคา กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มทอเสื่อกก ที่สามารถกระจายรายได้สู่ชุมชน การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข็มแข็ง สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกด้านทุกพื้นที่

          ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับองค์การบริหารส่วนตำบล จันทิมา อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ในโครงการสานพลังชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างตำบลน่าอยู่คู่ความพอเพียง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพของตนเองในการเก็บรวบรวมข้อมูลตำบลอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำแผนพัฒนาระบบสุขภาวะ การจัดการสุขภาวะชุมชนของตำบลแบบมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง อีกทั้งยังสร้างกระบวนการเรียนรู้ทั้งในและนอกพื้นที่ และได้มีการดำเนินงานการจัดทำระบบข้อมูลตำบล เพื่อสำรวจข้อมูลชุดพื้นฐานของประชากรในพื้นที่ และนำไปสู่การค้นหาทุน และศักยภาพของชุมชน เพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมถึง การค้นหาคนดี คนเก่ง คนสำคัญ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆโดยการร่วมมือกันของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ และหน่วยงานองค์กรในพื้นที่อันนำมาสู่การพัฒนาตำบลขุนทองที่มีการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ข้อมูล จนเป็นกิจกรรม ที่ตอบสนองนโยบายของส่วนกลาง และพัฒนาพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำมาสู่กระบวนการพัฒนาด้านต่างๆ ก่อให้เกิด กลุ่ม เครือข่าย แกนนำ และแหล่งเรียนรู้ ตามช่วงระยะเวลาการพัฒนาที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของรัฐ นโยบายขององค์การบริหารส่วนตำบลขุนทอง และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกชุมชน ทำให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดจนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้รวม 4 ชุดวิชา ๒7 แหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้พอเพียง มีสุขภาพดี มีสวัสดิการที่พึงได้รับ ส่งเสริมศักยภาพคนต้นแบบและชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาตำบล โดยการถ่ายทอดประสบการณ์และบทเรียนชุมชนที่เข้มแข็ง งานเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การพัฒนาเป็นตำบลสุขภาวะอย่างแท้จริง

 

    ๒. สถานะการพัฒนาและศักยภาพของพื้นที่

        ๒.1 สถานะและศักยภาพด้านสังคม

ครอบครัวในตำบลขุนทองส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีสมาชิกเฉลี่ย 4 คนต่อครัวเรือน จำนวน 339 ครัวเรือน มีเด็กและเยาวชน จำนวน 2,417 คน คิดเป็นร้อยละ 35.62  ด้านการศึกษาตำบลขุนทองมีสถานศึกษาจำนวน ๘ แห่ง แบ่งระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง ระดับประถมศึกษาและขยายโอกาส 7 แห่ง และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน ๒ ศูนย์ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการศึกษาของเด็กและเยาวชนในชุมชนโดยแยกเป็นระดับปฐมศึกษาสูงสุด รองลงมาคือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามลำดับ มีเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการศึกษา ๔๓๕ คน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัด ๑๐ แห่ง สำนักปฏิบัติธรรม จำนวน ๒ แห่ง และโบสถ์คริสต์ ๑ แห่ง เพื่อใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนในระดับหมู่บ้านและตำบล   มีประเพณีการทำบุญตามพระพุทธศาสนาในเดือนต่างๆ ที่สืบสานต่อเนื่องกันมา มีความเป็นอยู่แบบเครือญาติ ให้ความเคารพนับถือพระสงฆ์ ผู้อาวุโส และผู้นำชุมชน ประเพณีและเทศกาลท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีบัวไหม บัวใหญ่ จัดขึ้นกลางเดือนมีนาคมของทุกปี ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์ของทุกปี ประเพณีถวายเทียนพรรษาเนื่องในวันเข้าพรรษาของทุกปี ประเพณีบุญทอดเทียนโฮม ประเพณีลอยกระทง งานปริวาสกรรม ประเพณีบุญเดือนสามทูลขวัญข้าว สู่ขวัญควาย ตำบลขุนทองมีทุนทางสังคมที่เป็นศักยภาพส่งผลด้านสังคมของตำบลขุนทอง เป็นการช่วยเหลือประชาชนผ่านทางสวัสดิการจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ทุนและศักยภาพได้เข้าไปพัฒนาวิถีชีวิต โดยสนับสนุนในรูปแบบกองทุน เงินฝาก เงินให้กู้ยืม ให้ประชาชนในตำบลได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง เกิดเป็นกลุ่มและองค์กรต่างๆในชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน เป็นต้น รวมถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยเรื้อรัง การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน มีรถพยาบาลฉุกเฉินไว้บริการ ๒๔ ชั่วโมง การให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพชุมชนบนเพื่อการพึ่งตนเองบนพื้นฐานฐานทุนทางสังคมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ทำงานและกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ โรงเรียนบ้านโคกสี จัดทำโครงการที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาของบุตรหลาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนกลับมาเรียนในพื้นที่ โรงเรียนบ้านหนองหว้าเอน จัดการเรียนนอกห้องเรียนในหลักสูตร ควายไทย เป็นต้น มีกลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพด้านสังคม เช่น กองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่ตั้งอยู่ในหมู่ ๖ บ้านหญ้าคา เป็นกองทุนที่สนับสนุนคนดี แก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นศูนย์รวมของความสามัคคี และกองทุนนี้ยังสนับสนุนงานต่างๆของตำบลที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม มีการบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน มีการดูแลผู้ป่วยทางจิตซึ่งมีจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่ตำบลขุนทองก็ดูแลอย่างใกล้ชิด

        ๒.2 สถานะและศักยภาพด้านเศรษฐกิจ

            ๑) ด้านอาชีพตำบลขุนทองประกอบอาชีพหลักคือ เกษตรกรรมทำนาจำนวน 2,346 คน คิดเป็นร้อยละ 51.57 รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป และ พนักงาน/ลูกจ้างเอกชน จำนวน 891 คน คิดเป็นร้อยละ 19.59  โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากอาชีพหลักคือการขายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวจำนวน 12 หมู่บ้าน มากที่สุดในหมู่ที่ ๕ บ้านเพียไซย์ พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกคือ ข้าวเหนียว กข.๖ ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ และ ข้าวขาวเหลืองประทิว ๑๒๓ การทำไร่ ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด กระจายอยู่ทั่วทั้งตำบล โดยมีการปลูกอ้อยมากที่สุดในหมู่ที่๔ การเลี้ยงโค-กระบือ มีการเลี้ยงโคและกระบือจำนวนมากในหมู่ที่ ๘ บ้านโคกกลาง หมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองหว้าเอน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีการส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มสตรีผู้ที่สนใจภายในชุมชน เพื่อสร้างอาชีพเสริม และรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ เช่น กลุ่มถักตะกร้า กลุ่มผลิตผ้ากันเปื้อน และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ด เป็นต้น ได้แก่มีรายได้เฉลี่ย ๒๑๖,๒๙๔ บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือมีรายได้เฉลี่ย ๖๘,๙๗๑ บาทต่อคนต่อปี 

๒) มีภาระหนี้สินของครัวเรือนจำนวน 1,187 คน เฉลี่ยมีหนี้สิน ๓๓,๐๙๑ บาทต่อคน  สาเหตุของการเป็นหนี้ ได้แก่ การทำการเกษตร ซื้อยานพาหนะ และค่าใช้จ่ายด้านอาหาร แหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่ มาจากกองทุนเงินล้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสินและแหล่งเงินกู้นอกระบบ การออมเงินของครัวเรือน มีการออม จำนวน ๑,๐๒๖ ครัวเรือน โดยเป็นการออมกับองค์กรทางการเงิน เช่นกลุ่มออมทรัพย์/กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน(เงินล้าน) และธนาคารเพื่อการเกษตร มีระบบเศรษฐกิจที่เกิดการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและส่งเสริมการออมในครัวเรือน มีแหล่งเงินทุนแล้วยังมีการจัดตั้งกลุ่มและสนับสนุนกลุ่มอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น กลุ่มผลิตผ้ากันเปื้อน เป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง ให้มีการผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของตลาด มีการพัฒนาการเรียนรู้การเย็บและการสร้างลวดลายใหม่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์เห็ด (ฟาร์มเห็ดสาริน) ครบวงจร เป็นส่งเสริมอาชีพให้ผู้ที่สนใจ มาเรียนรู้วิธีการจัดการเพาะพันธุ์เห็ด การเพาะเชื้อ การผลิตก้อนเห็ด และการตลาดทั้งในพื้นที่ศูนย์และการได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ มีการให้ผู้ที่มีเรียนรู้นำก้อนเห็ดไปเพาะโดยยังไม่ต้องชำระเงิน หากยังไม่มีทุน เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเงินในชุมชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน ในหมู่ ๖ บ้านหญ้าคามีการปลูกผักสวนครัวประดับตกแต่งริมถนนหน้าบ้าน นอกจากจะสวยงามเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้วยังเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย

              ๓) ด้านการออม มีการส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนในทุกหมู่บ้านฝากเงินออมอย่างน้อย ครัวเรือนละ ๑ ราย ในกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ประกันชีวิต เป็นต้น มีการรวมกลุ่มจำหน่ายสินค้า เพื่อไม่ให้พ่อค้าคนกลางกดราคาในกลุ่มผู้ผลิตผ้ากันเปื้อน บ้านโคกสี หมู่ ๒ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อจำหน่ายสินค้าโดยตรงต่อผู้ซื้อ โดยจัดเป็นทีมออกจำหน่ายตามแหล่งต่างๆทุกภาคทั่วประเทศ มีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์เห็ดครบวงจร ตั้งอยู่ในหมู่ ๖ บ้านหญ้าคา โดยมีการสร้างเครือข่ายอาชีพ โดยการรับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้อาชีพการเพาะเห็ดจำหน่าย ตั้งแต่การเพาะเชื้อเห็ด การอัดก้อนเห็ด

    ๒.3 สถานะและศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อม

         ๑) ด้านการจัดการขยะตำบลขุนทองมีการจัดการด้านสถานะด้านสิ่งแวดล้อม มีการจัดการขยะ จำนวน 1,324 ครัวเรือน โดยใช้บริการจัดเก็บขยะชุมชนจำนวน 924 ครัวเรือน ร้อยละ 69.79 การทำปุ๋ยหมัก 120 ครัวเรื